@ เพิ่งเคยเห็นนายกฯคนแรกนี่แหละ ที่สนับสนุนให้เด็กเก่งคณิตศาสตร์
@ แด่..มนุษย์เงินเดือน "อันความรู้ รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล"
@ สิ่งที่ควรรู้ ก่อนเรียน Master of Business Administration (MBA)
@ ฮู้ยยยย...สติแตกกันไปหมดแย้วทั้งคนเล่นและกองเชียร์แนวร่วม
@ ความเป็นมาของ คดีสะเทือนโลก "ที่ดินรัชดา" ที่ทุกๆคนควรรู้!!!
@ ผมไม่ได้แหล!!! แต่เรื่องดีๆอย่างนี้..clickดูเองเหอะ
@ มือหยาบกร้านคู่นั้น มีแต่เส้นเอ็นปูดโปน...ทำให้ผมนึกถึงมือของผู้หญิงคนหนึ่ง...
@ สาระน่ารู้... เขาซื้อทองคำ ขายทองคำ กันอย่างไร?????
@ "ลื้อมีร่มมั้ย??..." แค่คำนี้แหละ ที่ทำให้นิสัยผมเปลี่ยนทันที
@ เฮ้อ!! ณ นาทีนี้..บอกได้คำเดียว เสียดาย..เสียดายครับ...นโยบายดีๆที่คน กทม. ไม่เอ๊า..ไม่เอา...
คลิกที่ภาพ...เพื่อดูขนาดที่ใหญ่ขึ้น @ New!! แจกปฏิทินนายกฯปู พ.ศ.2556 คลิกที่นี่...
จดหมายเปิดผนึก.. ส.ส.และ ส.ว.312 คน คัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 2 พฤษภาคม 2556 ที่รัฐสภา ตัวแทนสมาชิกรัฐสภา จำนวน 312 คน นำโดยนายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร เป็นต้น ร่วมกันแถลงข่าวเปิดเนื้อหาจดหมายเปิดผนึก จำนวน 10 หน้า ฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2556
เรื่อง: คัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ
เรียน: พี่น้องประชาชนที่เคารพทุกท่าน
อ้างถึง: มติคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 และวันที่ 11 เมษายน 2556 กรณีรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไว้พิจารณา
ตามที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 กล่าวอ้างว่าการที่ประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภารวม 312 คน ได้เสนอและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 68 ถือเป็นการล้มล้างการปกครองฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และต่อมานายบวร ยสินทร ได้ยื่นคำร้องในกรณีเดียวกันอีก ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 และวันที่ 11 เมษายน 2556 รับคำร้องทั้งสองฉบับไว้พิจารณา นั้น
ข้าพเจ้าในนามสมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คน ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ขอเรียนว่า การรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณานั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ดังเหตุผลที่จะเรียนให้ทราบดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไว้พิจารณา
1.1 ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีอำนาจหน้าที่เฉพาะตามที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องให้อำนาจไว้เท่านั้น เรื่องใดที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้ง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ และการที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลย่อมต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 197 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญต้องผูกพันและปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับศาลและองค์กรอื่นๆตามรัฐธรรมนูญ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนไว้พิจารณา ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในหมวด 15 มาตรา 291 โดยกำหนดถึงผู้ที่จะเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ข้อห้ามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วิธีการเสนอญัตติ กระบวนการหรือขั้นตอนในการพิจารณา และลงมติในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงขั้นตอนการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯและประกาศใช้ ทั้งนี้ ไม่มีถ้อยคำใดในมาตรา 291 หรือมาตราอื่นในรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบกระบวนการเสนอและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญได้เลย และไม่มีหลักการในรัฐธรรมนูญ หรือบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้เช่นกัน อันแตกต่างกับการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และการตราพระราชบัญญัติที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างหรือพระราชบัญญัติดังกล่าวได้
1.2 อำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้น มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 291 วรรคสองของรัฐธรรมนูญเท่านั้นกล่าวคือ ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจากรัฐเดี่ยวเป็นสาธารณรัฐ หรือรัฐรูปแบบอื่นๆจะเสนอมิได้ นอกเหนือจากข้อจำกัดนี้แล้ว รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ว่าในมาตราใดแต่อย่างใด ศาลรัฐธรรมนูญจะสร้างข้อจำกัดเพิ่มเติมในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือตีความรัฐธรรมนูญเพื่อขยายอำนาจของตนในเรื่องนี้มิได้เลย ดังนั้น รัฐสภาจึงชอบที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้อย่างกว้างขวาง เช่น ปรับโครงสร้างองค์กรต่างๆ ให้มีหรือยกเลิกองค์กรบางองค์กร เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เงื่อนไขใดๆในรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่การยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญแล้วจัดตั้งเป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ย่อมทำได้ เหตุที่รัฐธรรมนูญกำหนดข้อจำกัดไว้เพียงเท่าที่กล่าวไว้ข้างต้น เพราะโดยหลักการแล้วแม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุด แต่รัฐธรรมนูญก็ต้องพลวัตรเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของการเมือง สังคม เศรษฐกิจ เมื่อรัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้วเกิดปัญหาก็ชอบที่รัฐสภาจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมได้ การวางข้อจำกัดมากเกินไปจนไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้โดยวิถีทางรัฐสภาก็อาจทำให้มีการใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญในการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การทำรัฐประหาร เป็นต้น ดังจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับก่อน พ.ศ.2540 ไม่เคยวางข้อห้ามหรือข้อจำกัดในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้เลย ประกอบกับรัฐสภาเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งสมาชิกเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และเกือบทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน การที่สมาชิกรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นการกระทำในนามของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการแก้ไขเพิ่มเติมให้ยากกว่าพระราชบัญญัติทั่วไป อันเป็นเหตุผลสำคัญของหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะแก้ไขเพิ่มเติมได้ก็แต่โดยรัฐสภาซึ่งได้รับมอบอำนาจมาจากประชาชนโดยตรงเท่านั้น
ดังนั้น ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากไม่อยู่ในข้อจำกัดของการห้ามแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 291 วรรคสอง และการดำเนินการเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 291 แล้ว ย่อมเป็นอำนาจโดยชอบของรัฐสภาที่จะดำเนินการได้ องค์กรอื่นใดตามรัฐธรรมนูญรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งการแก้ไขจะเหมาะสมหรือไม่ ถูกใจทุกฝ่ายหรือไม่ ศาลไม่มีอำนาจตรวจสอบ เป็นความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐสภาต่อประชาชน
1.3 การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ได้ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจหรือแบ่งแยกภารกิจในการใช้อำนาจอธิปไตยในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ออกจากกัน โดยอำนาจนิติบัญญัตินั้น ใช้โดยองค์กรรัฐสภา อำนาจบริหารใช้โดยคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการใช้โดยองค์กรศาลทั้งหลาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีกระบวนการถ่วงดุลหรือกำหนดความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจระหว่างองค์กรไว้บางประการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ หรือการให้ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารได้ด้วยการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ เป็นต้น ทั้งนี้ เฉพาะเท่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น หากกรณีใดรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติถึงความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจระหว่างองค์กรไว้แล้ว องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะใช้อำนาจหน้าที่ของตนไปกระทบหรือแทรกแซงการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่นมิได้
เมื่อรัฐสภาได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะเข้าไปตรวจสอบได้แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาได้ไม่ว่ากรณีใด ในทำนองเดียวกับที่ศาลปกครอง ศาลแพ่ง หรือศาลแรงงาน ไม่มีอำนาจรับฟ้องคดีอาญา
1.4 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับในอดีตที่ผ่านมารัฐสภาหรือองค์กรที่ทำหน้าที่รัฐสภาก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีทั้งการแก้ไขเป็นรายมาตรา หรือแก้ไขทั้งฉบับเช่นใน พ.ศ.2538 หรือแก้ไขเพียงมาตราเดียวเพื่อจัดตั้งองค์กรขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเช่นใน พ.ศ.2539 และรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับนั้น ก็ได้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาแล้ว รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเอง ก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้ว และยังคงมีผลใช้บังคับมาจนถึงปัจจุบัน กรณีจึงเห็นได้ว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น เป็นกระบวนการปกติในระบบรัฐสภาอันเป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันรัฐธรรมนูญก็ไม่เคยบัญญัติให้อำนาจแก่องค์กรใดเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาเลยไม่ว่ากรณีใด
1.5 การใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง อันจะอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้นั้น ต้องไม่หมายความรวมถึงการใช้อำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญขององค์กรต่าง ตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เมื่อพิจารณาถ้อยคำของบทบัญญัติมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ.." ย่อมมีความหมายในเบื้องต้นว่า "บุคคล" นั้น ต้องเป็นบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองให้มีสิทธิและเสรีภาพ และสิทธิและเสรีภาพนั้นต้องเป็นสิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย เมื่อพิจารณาบทบัญญัติ ในหมวด 3 ซึ่งใช้คำว่า "สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย" ซึ่งตัวบุคคลที่จะมีสิทธิเสรีภาพในหมวดนี้ได้ คือ บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย แต่สิทธิเสรีภาพบางอย่างนิติบุคคลอาจเป็นผู้ทรงสิทธิได้ ดังนั้นคำว่า "บุคคล" นอกจากหมายถึงบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยแล้ว ย่อมรวมถึงนิติบุคคลสัญชาติไทยด้วยตามแต่ลักษณะและสภาพแห่งสิทธิเสรีภาพนั้น และโดยหลักแล้วย่อมไม่หมายถึงนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ และเมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติถึงหมวดสิทธิและเสรีภาพไว้เป็นการเฉพาะในหมวด 3 ตั้งแต่ส่วนที่ 1 ถึงส่วนที่ 13 ก็ย่อมมีความหมายว่า การใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามความในมาตรา 68 วรรคหนึ่งนั้น ก็ย่อมหมายถึงการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้เท่านั้น
องค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญนั้นมิได้เป็น "บุคคล" ตามความหมายใน มาตรา 68 วรรคแรก แต่เป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ไว้ ได้แก่ รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรอื่นๆตามรัฐธรรมนูญ การที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายได้บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้ เป็นเรื่องของการกำหนดภารกิจขององค์กรนั้นๆ ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่บัญญัติไว้ การปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายขององค์กรเหล่านี้ จึงมิใช่เป็นเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพ เพราะหากเป็นสิทธิและเสรีภาพแล้วก็เป็นสิทธิขององค์กรนั้นจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่กรณีนี้ถือเป็นอำนาจหน้าที่และภารกิจขององค์กร ทำนองเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย เช่น เมื่อศาลได้ส่งคำร้องของคู่ความให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจะอ้างว่าเป็นสิทธิของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาหรือไม่พิจารณาก็ได้ เช่นนี้ย่อมไม่อาจทำได้ ดังนั้น การใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะเข้าข่ายเป็นการกระทำตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพของ "บุคคล" และต้องจำกัดขอบเขตเฉพาะสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญในหมวด 3 เท่านั้น จะตีความขยายความไปถึงการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้ใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญด้วยมิได้
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาที่จะดำเนินการได้ตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ การที่สมาชิกรัฐสภาทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ย่อมเป็นการดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ และเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะต้องพิจารณาไปตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ กรณีมิใช่เป็นเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 68 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด
การที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การเสนอญัตติของสมาชิกรัฐสภา และการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อันอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะตรวจสอบได้ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญนั้น ผลจะกลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือองค์กรทุกองค์กรในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นๆตามรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เพราะศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรเหล่านั้นได้ทั้งหมด อันจะกระทบต่อการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญขององค์กรต่างๆ การตีความเช่นนี้เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเอง และมีฐานะอยู่เหนือองค์กรอื่นทั้งปวง อันจะทำให้หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญฯและหลักการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในรัฐธรรมนูญและหลักการสำคัญในระบบกฎหมายของรัฐถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำที่ปรากฏในข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวที่ 7/2556 วันพุธที่ 3 เมษายน 2556 ที่ว่า "...คงเหลือแต่เพียงให้บุคคลผู้ทราบการกระทำเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเพียงประการเดียว และให้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยเท่านั้น ไม่อาจใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้พ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในลักษณะอื่นนอกเหนือจากการใช้สิทธิและเสรีภาพ"แล้ว ยิ่งน่ากลัวและน่าเป็นห่วงว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าไปตรวจสอบการกระทำอื่นที่มิใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ด้วยการอ้างสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญในส่วนที่ 3 ของรัฐธรรมนูญนั้น มีบัญญัติไว้เพียง 2 มาตรา คือ มาตรา 68 และมาตรา 69 ถ้อยคำดังกล่าวในข่าวทำให้เข้าใจได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของทุกองค์กรได้หมดแม้รัฐธรรมนูญจะมิได้บัญญัติไว้ก็ตาม และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะเท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสียเอง ทั้งๆที่ศาลรัฐธรรมนูญยอมรับในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันผ่านการลงประชามติโดยตรงของประชาชน การจะแก้ไขเพิ่มเติมโดยการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ก็ควรให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภา
ถ้อยคำที่ปรากฏในข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเสมือนจะบอกเป็นนัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เคารพคำวินิจฉัยเดิม และหาทางออกให้กับคำร้องในขณะนี้ว่าศาลมีอำนาจ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะยิ่งเป็นการจงใจฝ่าฝืนทั้งคำวินิจฉัยของตนเองและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ข้อ 2. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 ไว้พิจารณาโดยตรงโดยมิได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากอัยการสูงสุดก่อน
2.1 ตั้งแต่แรกที่มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องผ่านองค์กรหรือบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้นไม่มีบทบัญญัติใดให้สิทธิประชาชนที่จะเสนอคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ครั้นเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ก็เช่นกัน รัฐธรรมนูญยังคงหลักการใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ต้องกระทำโดยองค์กรหรือบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือโดยผ่านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีเพียงกรณีเดียวที่ประชาชนอาจใช้สิทธิโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ คือ ตามมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกรณีที่บุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีอื่นได้แล้วเท่านั้น และอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็เพียงวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น นอกเหนือจากนี้แล้วไม่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิประชาชนในการใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย เช่นเดียวกับการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 ที่ต้องเสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน
2.2 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญนั้น มิใช่สิทธิส่วนบุคคลของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นสิทธิที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะของคนทั้งประเทศ เพราะการล้มล้างการปกครองฯก็ดี หรือการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ดี ย่อมกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นส่วนรวม ดังนั้น การจะปล่อยให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งใช้สิทธิโดยลำพังต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงโดยที่ไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนั้น อาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะได้ เนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ เช่น การประกาศชักชวนประชาชนเพื่อแช่แข็งประเทศไทยด้วยการใช้กำลัง หรือกรณีการบุกยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน เพื่อบีบบังคับรัฐบาลให้ลาออกนั้น ถือเป็นความผิดคดีอาญาร้ายแรงฐานกบฏในราชอาณาจักร บุคคลผู้ทราบการกระทำย่อมมีสิทธิแจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อสืบสวนสอบสวนดำเนินคดี ถ้าเห็นว่ามีมูลพนักงานสอบสวนก็เสนอเรื่องต่ออัยการ หากอัยการเห็นว่าคดีมีมูลก็มีหน้าที่ฟ้องคดีต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา และศาลก็มีหน้าที่ในการพิพากษาคดี อันเป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นหลักสากล ซึ่งคดีเหล่านี้รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย โดยอัยการเป็นตัวแทนรัฐในการฟ้องคดีต่อศาล และหากอัยการเห็นว่าคดีไม่มีมูล บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะไปฟ้องคดีเองแทนรัฐไม่ได้
ดังนั้น หากมีการกระทำตามมาตรา 68 วรรคแรก และบุคคลสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้อง เพราะไม่ใช่การล้มล้างการปกครองฯ ผลของคำวินิจฉัยย่อมต้องผูกพันอัยการสูงสุดด้วย แม้อัยการสูงสุดมีความเห็นว่ามีการล้มล้างการปกครองฯจริง ก็อาจมีปัญหาว่าจะดำเนินการฟ้องร้องผู้กระทำความผิดต่อไปได้หรือไม่เพียงใด การตีความและสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการทำตัวเป็นทั้งพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาล เช่นนี้ จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 68 เสียเอง และทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบไม่อาจเดินไปได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ก็ดี พ.ศ.2550 ก็ดี คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 12/2549 ก็ดี เอกสารทางวิชาการและเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญก่อนมีคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ตลอดจนความเห็นของนักวิชาการจึงตรงกันหมดว่าต้องเสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุดเสียก่อน เพราะอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้มีเพียง 2 กรณี คือ การสั่งห้ามกระทำและสั่งยุบพรรคการเมืองหากพรรคการเมืองเป็นผู้กระทำผิด อันเป็นการเพิ่มเติมและดำเนินไปคู่ขนานกับการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
อนึ่ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ได้อภิปรายไว้ในสภาร่างรัฐธรรมนูญว่า "...บทบัญญัติในมาตรา 67 (คือมาตรา 68 ในปัจจุบัน) ได้บัญญัติให้เป็นสิทธิของบุคคลที่จะใช้สิทธิในการนำเรื่องเสนอต่ออัยการสูงสุด.....บทบัญญัติของมาตรา 67 นั้น มีลักษณะของการที่จะลงโทษ ทั้งในเชิงของการเป็นโทษทางอาญาตามที่ปรากฏอยู่ในข้อความในวรรคที่ 2 รวมถึงโทษที่ไม่มีลักษณะทางอาญา แต่เป็นการลงโทษตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งหรือการเมือง นั่นคือโทษการยุบพรรค ... ในทางอาญานั้น ถ้าเราทราบว่ามีการกระทำความผิดกฎหมายอาญาเกิดขึ้น แม้ไม่รู้ตัวว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ยังเปิดช่องว่า สามารถไปกล่าวโทษกับเจ้าพนักงานได้... ผู้ทราบเหตุการณ์นั้นควรที่จะต้องมีสิทธิที่จะมาร้องเรียนต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้ทำการตรวจสอบได้ ขั้นตอนที่มาร้องเรียนนั้นนี่ ก็เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดครับ ท่านประธานครับ ที่จะต้องตรวจสอบเรื่องราวว่ามีมูลหรือไม่มีมูล ก่อนที่ท่านจะนำเรื่องเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป... ขอแก้ไขคำว่า ผู้รู้ เป็นผู้ทราบการกระทำดังกล่าวมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงได้"
จะเห็นได้ว่า ผู้ร่างได้เสนอให้แก้ไขคำว่า "ผู้รู้เห็นการกระทำ" เป็น "ผู้ทราบการกระทำ" เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่ประชาชนทั่วไปสามารถไปแจ้งความกล่าวโทษบุคคลที่ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯได้ จึงต้องเสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุดก่อน
นอกจากนี้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 18-22/2555 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่ารัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวได้ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน ที่วินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ซึ่งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรนำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาการรับคำร้อง การละเลยในข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญ จึงทำให้เห็นว่ามาตรฐานการรับคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มิได้ยืนอยู่บนหลักการของรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ จึงไม่อาจยอมรับได้
2.3 เมื่อพิจารณาข้อความในมาตรา 68 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "...ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว..." หากพิจารณาตามหลักการตีความตามถ้อยคำภาษาที่เป็นลายลักษณ์อักษรและเหตุผลทางกฎหมายจะได้ความหมายว่า ผู้ทราบการกระทำมีสิทธิอย่างเดียวคือ เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุด ส่วนอัยการสูงสุดนั้นสามารถกระทำได้ 2 ประการ คือ การตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำ เพราะคำว่า และระหว่างคำว่า ตรวจสอบข้อเท็จจริง กับยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเป็นคำกริยาที่แสดงถึงการกระทำของอัยการสูงสุด มิใช่ของผู้ทราบการกระทำ หากแปลความว่าการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นของผู้ทราบการกระทำเสียแล้ว อัยการก็จะเหลือเพียงการตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น เมื่อตรวจสอบแล้วก็ไม่อาจทำอะไรต่อไปได้ ยิ่งหากแปลความว่าการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทำได้ทั้งอัยการสูงสุดและผู้ทราบการกระทำแล้ว นอกจากจะขัดแย้งต่อบทบัญญัติโดยชัดแจ้งแล้วยังขัดต่อหลักแห่งเหตุผลอีกด้วย เพราะการบัญญัติเช่นนั้นจะทำให้การทำหน้าที่ของอัยการสูงสุดไม่อาจเป็นไปได้อีกต่อไป เพราะเมื่อผู้ทราบการกระทำสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็ไม่จำต้องเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดอีก หรือเมื่อเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดแล้ว ผู้ร้องกลับมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เองอีกเช่นนี้ สิ่งที่อัยการสูงสุดดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้ก็จะไร้ผลอีกเช่นกัน การตีความของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จะทำให้เกิดผลประหลาดที่ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายรองรับ
การตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิผู้ทราบการกระทำใช้สิทธิตามมาตรา 68 วรรคสอง ได้ 2 ทาง ย่อมทำให้อำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุดตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ขาดสภาพบังคับ และไร้ผลในทางปฏิบัติ จึงเป็นการตีความที่ขัดต่อหลักความเป็นเอกภาพของรัฐธรรมนูญและหลักการคำนึงถึงภารกิจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพราะการตีความรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องตีความให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้และต้องมีความสอดคล้องต้องกันทั้งระบบ จะทำให้บทบัญญัติส่วนหนึ่งมีผลบังคับใช้ แต่อีกส่วนหนึ่งไม่มีผลบังคับใช้มิได้ และการตีความจะต้องไม่ไปกระทบต่อการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่นๆตามรัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองฯ หรือกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 วรรคแรก แล้ว เห็นได้ว่าการกระทำลักษณะดังกล่าวนี้เป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 94(1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ด้วย ขั้นตอนการยุบพรรคการเมืองได้กำหนดไว้ในมาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งมีกระบวนการตรวจสอบก่อนเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยต้องผ่านการตรวจสอบจากนายทะเบียนพรรคการเมือง หลังจากนั้นนายทะเบียนต้องเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้วจึงจะแจ้งต่ออัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาการขอให้ยุบพรรคการเมืองก็ดำเนินการโดยผ่านอัยการสูงสุดทุกครั้งไป ดังนั้น เมื่อองค์ประกอบแห่งการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองทั้ง 2 กรณีเหมือนกัน การที่มาตรา 68 วรรคสอง กำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงสอดคล้องกับกรณีการยุบพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมืองเป็นการบัญญัติกฎหมายที่สอดคล้องต้องกันเป็นระบบ
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับบทบัญญัติอื่นๆของรัฐธรรมนูญแล้ว หากกรณีใดรัฐธรรมนูญมีวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ที่จะให้บุคคลเลือกใช้สิทธิได้ 2 ทาง ก็จะบัญญัติไว้อย่างชัดเจน เช่น มาตรา 275 วรรคสี่ เรื่องการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง ซึ่งให้สิทธิผู้เสียหายเลือกใช้สิทธิได้ โดยบัญญัติว่า
"ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา ผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าวจะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อให้ดำเนินการตามมาตรา 250(2) หรือจะยื่นคำร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อขอให้ตั้งผู้ไต่สวนอิสระตามมาตรา 276 ก็ได้ แต่ถ้าผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ต่อเมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่รับดำเนินการไต่สวน ดำเนินการล่าช้าเกินสมควร หรือดำเนินการไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่มีมูลความผิดตามข้อกล่าวหา"
จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนถึงทางเลือกของผู้เสียหายในการยื่นคำร้องให้ดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง และยังกำหนดข้อจำกัดไว้ด้วยว่า หากเลือกดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จะมาดำเนินการอีกช่องทางหนึ่งได้ ต้องเข้าเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ด้วย แต่กรณีตามมาตรา 68 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติให้ทางเลือกไว้สำหรับผู้ทราบการกระทำที่จะเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดก็ได้ หรือจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ ดังนั้น จึงต้องตีความถ้อยคำในบทบัญญัติและตามเจตนารมณ์ไปพร้อมกันว่า ผู้ทราบการกระทำต้องเสนอเรื่องไปยังอัยการสูงสุดได้ช่องทางเดียวเท่านั้น ส่วนการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญจะไปกำหนดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญขึ้นเองโดยปราศจากเหตุผลทางกฎหมายรองรับไม่ได้ ถ้าเป็นดังนั้น เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นเอง และกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเสียเอง จนอาจทำให้เข้าใจได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะทำให้รัฐสภาไม่สามารถทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้
ข้อ 3. มาตรฐานการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจยอมรับได้
3.1 การเร่งรัดพิจารณารับคำร้องอย่างผิดปกติวิสัยและขาดหลักความเสมอภาคในการพิจารณารับคำร้อง ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเมื่อมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 เมษายน 2556 ปรากฏว่าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้แถลงในวันนั้นว่า ในวันที่ 3 เมษายน 2556 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาคำร้องซึ่งก็ปรากฏว่า ในวันที่ 3 เมษายน 2556 นั้นมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญติดภารกิจไปต่างประเทศถึง 4 คน คงเหลือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียง 5 คน แต่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คน ได้ประชุมและมีมติอย่างเร่งด่วนในวันนั้นเองด้วยมติ 3 ต่อ 2 เสียง ให้รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา ทั้งที่ข้อเท็จจริงตามคำร้องมิใช่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ศาลจะต้องรับดำเนินการในทันทีทันใดควรต้องรอให้ตุลาการที่เหลืออีก 4 คน ได้เข้าร่วมประชุมด้วยเพื่อให้เกิดความรอบคอบ แม้องค์คณะทั้ง 5 คน ถือได้ว่าครบองค์ประชุมแต่การมีมติด้วยคะแนน 3 เสียง จากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 9 คนนั้น ย่อมขาดซึ่งความชอบธรรม แม้ต่อมาวันที่ 15 เมษายน 2556 ได้มีผู้มายื่นคำร้องในกรณีเดียวกันและศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องไว้พิจารณาด้วยคะแนน 5 ต่อ 3 เสียงก็หาได้สร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญไม่ เพราะหากเปรียบเทียบข้อเท็จจริงที่มีบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ฝ่ายที่ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมายื่นคำร้องต่อศาลดังเช่นกรณีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลและประกาศจะแช่แข็งประเทศไทยของพลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ กับพวกซึ่งมีเจตนาล้มล้างรัฐบาล เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องในวันที่ 5 และ 15 พฤศจิกายน 2555 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งห้ามกระทำการ ศาลรัฐธรรมนูญกลับมิได้เร่งดำเนินการทั้งที่จะมีการนัดชุมนุมและปฏิบัติตามแผนในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 ปรากฏว่าในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ศาลได้เรียกแกนนำมาไต่สวนและมีมติไม่รับคำร้องไว้พิจารณาในวันเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องการดำเนินการของรัฐสภาซึ่งมีขั้นตอนชัดเจนไม่จำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเร่งรัดพิจารณาในทันที แต่กรณีของการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนั้นเป็นกรณีเร่งด่วน แต่ศาลกลับมิได้เร่งดำเนินการแต่อย่างใด
นอกจากนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ที่มีมติรับคำร้องไว้พิจารณาประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล และนายสุพจน์ ไข่มุกต์ ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าทั้ง 2 คน มีส่วนได้เสียในรัฐธรรมนูญเพราะเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในด้านจรรยาบรรณของตุลาการ และตามหลักวิชาชีพแล้ว ย่อมไม่สมควรที่ตุลาการ 2 คนดังกล่าว จะร่วมพิจารณาคำร้องนี้ตั้งแต่แรกเพราะเป็นการขัดกันแห่งประโยชน์อย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะนายจรัญ ภักดีธนากุล เอง ได้เคยแถลงผ่านสื่อมวลชนเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปทำนองว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นั้น มีข้อบกพร่องและเห็นสมควรว่าจะต้องมีการแก้ไข ซึ่งการแก้ไขอาจทำแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 คือ แก้มาตราเดียวเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่างได้ และเมื่อครั้งการพิจารณาคดีในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2550 นั้น นายจรัญ ภักดีธนากุล ได้ถูกทักท้วงในเรื่องนี้ และได้ขอถอนตัวออกจากคดีไป มาในวันนี้ นายจรัญ ภักดีธนากุล กลับมีมติรับคำร้องเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้พิจารณา ทั้งที่ตนเองเคยพูดไว้ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าทำได้ และในคดีดังกล่าวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน ได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยส่วนตนโดยชัดเจนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจไปวินิจฉัยกรณีดังกล่าว
3.2 การตีความของศาลรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับหลักการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรและหลักการตีความรัฐธรรมนูญ เมื่อพิเคราะห์การตีความของศาลรัฐธรรมนูญในการรับคำร้องไว้พิจารณาเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้ทั้งหลักการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรและหลักการตีความรัฐธรรมนูญแต่ได้ใช้หลักการตีความของศาลเอง ทั้งนี้ เพราะเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง เกี่ยวกับองค์ประกอบความผิดและวรรคสองเกี่ยวกับขั้นตอนการเสนอคำร้องต่อศาลแล้ว ศาลได้ตีความผิดไปจากบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน กล่าวคือได้ตีความว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการที่บุคคลได้ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และตีความว่าการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงก็ได้ ซึ่งการตีความเรื่องนี้ทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีความขัดแย้งกันเอง ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพของรัฐธรรมนูญ ทำให้บทบัญญัติส่วนที่ให้อำนาจอัยการสูงสุดไร้สภาพบังคับ และมีผลกระทบต่ออำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของอัยการสูงสุด และรัฐสภา อันเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญได้เข้าไปใช้อำนาจหน้าที่แทนอัยการสูงสุดและรัฐสภาเสียเอง
อีกทั้งเนื้อหาสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 นั้นก็เพียงเพื่อให้เกิดความชัดเจนถึงกรอบ ขั้นตอนและวิธีการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของบุคคลผู้ทราบว่ามีการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ โดยให้เสนอเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชนก็ยังมีอยู่เช่นเดิม มิได้มีการตัดสิทธิดังกล่าวแต่อย่างใด เหตุที่มีการแก้ไขก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความในลักษณะของการขยายเขตอำนาจรับคดีของตนเองว่า ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง อันไม่สอดคล้องกับถ้อยคำในบทบัญญัติรวมถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 ฯลฯ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นทั้งที่อำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้น จะยกเลิกมาตรา 68 หรือแก้ไขเป็นประการใดก็ย่อมทำได้
การตีความขยายเขตอำนาจตนเองของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ นับเป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างยิ่ง เพราะการตีความเพิ่มอำนาจให้กับตนเองดังกล่าว มีผลเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเอง และไม่ต้องผูกพันตนต่อรัฐธรรมนูญ อีกทั้งไม่มีองค์การใดตรวจสอบถ่วงดุลได้ หากยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญก็จะเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายอำนาจของตนเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจและหลักการสำคัญอื่นในรัฐธรรมนูญลงโดยสิ้นเชิง
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ในนามของสมาชิกรัฐสภาขอประกาศยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันอีกครั้งว่า ขอคัดค้านการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการรับคำร้องเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภาไว้พิจารณาทั้งยังเป็นการรับคำร้องโดยตรงโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุดเสียก่อน สมาชิกรัฐสภาที่เกี่ยวข้องทุกคนขอยืนยันอย่างแน่วแน่ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และเพื่อคงไว้ซึ่งหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักการแบ่งอำนาจ หลักนิติธรรม และเกียรติภูมิของสถาบันรัฐสภาอันเป็นหลักการและสถาบันที่สำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อไป
อย่างไรก็ดีเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการรับคำร้องไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 และการรับคำร้องไว้พิจารณาในคดีนี้ พวกเราขอแจ้งมายังพี่น้องประชาชนทุกท่านและศาลรัฐธรรมนูญว่า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ไตร่ตรองและพิจารณาแนวทางการรับคดีเรื่องนี้เสียใหม่ เพื่อให้คงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญเอง โดยที่พวกเรามิได้มีอคติหรือเจตนาร้ายใดๆต่อศาลรัฐธรรมนูญแม้แต่น้อย แต่สถานะความเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชน ไม่อาจทนเห็นและยอมรับความผิดพลาดบกพร่องของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นและปล่อยให้เป็นเช่นนี้อีกต่อไปได้ ทั้งที่สมาชิกรัฐสภาได้โต้แย้งและคัดค้านอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้มาโดยตลอดตั้งแต่รับวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 แล้ว จึงพร้อมกันแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการดำเนินการครั้งนี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจอ้างผลแห่งคำวินิจฉัยที่เป็นเด็ดขาดและผูกพันองค์กรต่างๆมาใช้ในกรณีนี้ได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นเด็ดขาดและผูกพันองค์กรต่างๆนั้นต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายและอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากเป็นการวินิจฉัยที่เกินขอบเขตอำนาจแล้วก็ไม่มีผลผูกพันองค์กรอื่น องค์กรต่างๆที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญจึงชอบที่จะใช้อำนาจหน้าที่ของตนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ต่อไปได้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือ
คณะสมาชิกรัฐสภา
หมายเหตุ: นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาวิปรัฐบาล กล่าวว่า สมาชิกรัฐสภา จำนวน 312 คน ได้ทำจดหมายเปิดผนึกจำนวน 10 หน้า เพื่อมอบให้กับองค์กรอิสระต่างๆ ยกเว้น ศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งส่งให้คณะผู้พิพากษาศาลทั่วประเทศ และส่งให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆที่สอนด้านกฎหมาย
คำแถลงของอัยการสูงสุดกรณีศาล รธน. สั่งให้ชลอการลงมติร่าง รธน. 07มิ.ย.55